0
แนวปฏิบัติโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (๓-๕-๗-๙ สู่ความยั่งยืน)
ตามที่ได้กล่าววัตถุประสงค์ของโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข คือเพื่อพัฒนารูปแบบและนำแนวคิดของ ๕ส ลงสู่บริบทของวัดและชุมชน เพื่อส่งเสริมให้วัดเป็นพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่ทางจิตใจและปัญญา และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในสังคมไทย ตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสังคม การมีจิตอาสา ความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อทำให้เกิดสังคมสุขภาวะและความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสำคัญ “วัดสวยด้วยความสุข” และ “การสร้างวัดในใจคน” ดังนั้น แนวปฏิบัติของโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข จึงกำหนดแนวปฏิบัติแบบง่าย คือ
๓ พันธกิจ สู่ วัดสวยด้วยความสุข ได้แก่ ๑) การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของวัดและชุมชนให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม เป็นสถานที่สัปปายะ ๒) การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ของวัดและชุมชนด้วยวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ ๓) การพัฒนาพื้นที่จิตใจและปัญญาของวัดและชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนา
๕ เครื่องมือการทำงาน (5ส) เครื่องมือการดำเนินงานเพื่อสร้างสัปปายะสู่วัด คือ สะสาง, สะดวก, สะอาด, สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย
๗ แนวทางการดำเนินการเพื่อสร้างสัปปายะ ได้แก่ การดำเนินงานสร้างสัปปายะสู่วัดสวยด้วยความสุข คือ ๑) การแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการฯ ๒) การประกาศนโยบาย ๓) การอบรมให้ความรู้ ๔) การสำรวจพื้นที่ จัดทำแผนผังวัด และวิเคราะห์พื้นที่เพื่อการพัฒนา ๕) จัดทำแผนปรับปรุง ๖) ลงมือปฏิบัติ (Big Cleaning Day) และ ๗) สรุปผลการดำเนินงาน
๙ แนวปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่ ได้แก่ แนวปฏิบัติในการพัฒนาพื้นที่ภายในวัด ๙ พื้นที่ คือ ๑) ป้ายชื่อวัด บริเวณหน้าวัด และแผนผังวัดโดยสังเขป ๒) การจัดการจราจร ป้ายจราจร และที่จอดรถ ๓) การจัดระบบคลังวัสดุสงฆ์ และการควบคุมการเบิก-จ่ายสิ่งของ ๔) ห้องน้ำ ๕) การจัดการขยะ ๖) สภาพแวดล้อมทั่วไป ได้แก่ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัยของพื้นที่เปิดโล่งต่างๆ การจัดการพื้นที่สีเขียวภายในวัด เป็นต้น ๗) ระบบไฟฟ้าและการป้องกันอัคคีภัย ๘) โรงครัว และ ๙) การสุขาภิบาลอาคารเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด
การวางผังบริเวณ การจัดการมรดกวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมภายในวัด
รูปแบบการวางผังบริเวณและพื้นที่ภายในวัด
การวางผังบริเวณเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการจัดการและการพัฒนาพื้นที่ภายในวัด เป็นการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งของอาคาร สิ่งปลูกสร้างให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ เช่น ปัจจัยทางธรรมชาติ ปัจจัยด้านสุนทรียภาพ ปัจจัยด้านวัฒนธรรม และปัจจัยการใช้สอยที่ดินหรือการใช้ประโยชน์ของอาคาร
สำหรับการวางผังบริเวณวัดในประเทศไทยนั้น วัดโดยทั่วไปนิยมแบ่งเขตพื้นที่ภายในออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ คือ ๑)เขตพุทธาวาส ๑) เขตสังฆาวาส และ ๓) เขตธรณีสงฆ์
การวางผังบริเวณของวัดในสังคมไทย
๑. เขตพุทธาวาส เป็นพื้นที่สำหรับใช้ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นเสมือนสัญลักษณ์หรือสถานที่ประทับขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคำว่า “พุทธาวาส” มีความหมายว่าเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า ในเขตพุทธาวาสมักประกอบด้วยสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธองค์และพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ได้แก่
๑) พระเจดีย์ พระมณฑป พระปรางค์ : อาคารที่สร้างเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางหลักของวัด
๒) พระอุโบสถ : อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในการทำสังฆกรรม
๓) พระวิหาร : อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระหว่างพระสงฆ์และฆราวาส
๔) เจดีย์ มณฑป ปรางค์ : อาคารที่ใช้บรรจุอัฐิ หรือประกอบเพื่อให้ผังรวมสมบูรณ์
๕) ศาลา เช่น ศาลาราย : อาคารที่ใช้เป็นที่นั่งพักของผู้มาเยือน
๖) ศาลาทิศ : อาคารที่ใช้ล้อมอาคารสำคัญสำหรับให้คฤหัสถ์นั่งพัก
๗) พระระเบียง : อาคารที่ล้อมอาคารหลักสำคัญแสดงขอบเขตแห่งพุทธาวาส
๘) หอไตร : อาคารที่ใช้เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา
๙) พลับพลาเปลื้องเครื่อง : อาคารที่ใช้สำหรับเป็นที่พระมหากษัตริย์เปลี่ยนชุดฉลองพระองค์ในวาระที่ทรง เสด็จพระราชดำเนินเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล
พระเจดีย์ พระปรางค์ และพระมณฑป ถือเป็นอาคารที่สำคัญที่สุดในฐานะหลักประธานของวัด จึงมักถูกวางตำแหน่งลงในผังตรงส่วนที่สำคัญที่สุดของเขตพุทธาวาส เช่น บริเวณกึ่งกลางหรือศูนย์กลางหรือแกนกลางของผัง อาคารสำคัญรองลงมากลุ่มแรกคือ พระอุโบสถและพระวิหาร ซึ่งอาคารทั้ง ๒ ประเภทนี้ มักใช้ประกอบคู่กันกับพระเจดีย์เสมอ หรืออาจใช้ประกอบร่วมกันทั้ง ๓ ประเภท คือ พระอุโบสถ พระเจดีย์ และพระวิหาร
ภาพผังบริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
๒. เขตสังฆาวาส เป็นบริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดที่กำหนดไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพิธีการใดทางศาสนา พื้นที่บริเวณนี้ประกอบไปด้วยอาคารสถานที่สัมพันธ์เฉพาะกับกิจกรรมและวัตรปฏิบัติที่เป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของเพศสมณะ เช่น
๑) กุฏิ : อาคารที่ใช้สำหรับพักอาศัย
๒) กัปปิยกุฎี : โรงเก็บอาหาร
๓) หอฉัน/โรงครัว : อาคารที่ใช้เป็นที่ฉันภัตตาหาร
๔) ศาลาการเปรียญ : อาคารที่ใช้เป็นที่เรียนหนังสือของพระสงฆ์
๔) ชันตาฆร : โรงรักษาไฟและต้มน้ำ
๖) ห้องสรงน้ำ/เว็จกุฎี : อาคารสำหรับสรงน้ำและใช้ขับถ่าย
ลักษณะการวางตำแหน่งอาคารในผังเขตสังฆาวาส กุฏิ ถือเป็นอาคารหลักสำคัญ โดยมีอาคารประเภทอื่นประกอบเพื่อประโยชน์ใช้สอยที่เกี่ยวเนื่องกัน ส่วนใหญ่ไม่มีกฎเกณฑ์การวางผังมากนัก นอกจากบางประเภทของวัด ชั้นของวัด ที่ตั้ง รวมทั้งขนาดยังมีผลต่อการจัดวางผังของเขตนี้ กล่าวคือ หากเป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในแถบถิ่นชนบท นิยมวางตัวกุฏิกระจายตัวเป็นหลังๆ อาคารที่เป็นองค์ประกอบรองหลังอื่นๆ ก็จะจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการใช้สอยของพระภิกษุ
(ภาพหมู่กุฎิ)
๓. เขตธรณีสงฆ์และสาธารณสงเคราะห์ หมายถึง เขตพื้นที่ในพระอารามที่วัดกำหนดพื้นที่บางส่วนที่เหลือจากการจัดแบ่งเขตสำคัญ คือ เขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส ให้เป็นเขตพื้นที่สำหรับเอื้อประโยชน์ใช้สอยในเชิงสาธารณะประโยชน์ในลักษณะต่างๆ ของวัด เช่น
๑) ธรรมศาลา : อาคารหรือโรงเทศนาธรรม
๒) หอระฆัง : อาคารที่ใช้เป็นเครื่องตีบอกเวลาสำหรับพระภิกษุสงฆ์
๓) พื้นที่สีเขียว : พื้นที่เชื่อมระหว่างเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส หรือบริเวณหลังวัด
๔) พิพิธภัณฑ์ : อาคารที่เก็บรักษาและแสดงวัตถุโบราณหรือสิ่งของสำคัญของวัด
๕) ศูนย์เรียนรู้ชุมชน : อาคารที่ประชุมและสถานที่ทำกิจกรรมของวัดและชุมชน
๖) ศาลาอเนกประสงค์ : อาคารที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง แล้วแต่ความต้องการ
๗) เมรุ : อาคารที่ใช้ในการจัดการเผาศพ เป็นต้น
เขตธรณีสงฆ์ดังกล่าว ใช้เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อสร้างความร่มรื่นให้วัด หรือใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารอื่นๆ เช่น สร้างเมรุสำหรับฌาปนกิจศพชุมชน ศูนย์เรียนรู้ชุมชนหรือการตั้งโรงเรียนเพื่อให้การศึกษาแก่สังคม โดยเป็นพื้นที่ให้คฤหัสถ์เข้ามาเรียนรู้ พักผ่อน เป็นต้น
การแบ่งพื้นที่วัดออกเป็น ๓ ส่วนนี้ ในเชิงการออกแบบทางสถาปัตยกรรมมีความหมาย
ส่วนหนึ่ง คือ เขตพุทธาวาส ใช้เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ (Semi-Public Zone)
ส่วนสอง คือ เขตสังฆาวาส ใช้เป็นพื้นที่ส่วนตัว (Private Zone) เฉพาะของพระสงฆ์
ส่วนสาม คือ เขตธรณีสงฆ์ เป็นเสมือนเขตพื้นที่สาธารณะ (Public Zone) สำหรับประชาชนทั่วไป
การวางผังบริเวณภายในวัดดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการพัฒนาวัด การบูรณปฏิสังขรณ์ และการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัดให้มีความเหมาะสมกับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา สถาปัตยกรรม ภูมิปัญญาและวิถีวัฒนธรรมของสังคมไทย
(ภาพศูนย์เรียนรู้ภายในวัด)
หลักการออกแบบผังบริเวณและการปรับปรุงภูมิทัศน์ตามหลักภูมิสถาปัตยกรรม
๑) การจัดทำผังแม่บท เป็นการกำหนดพื้นที่ใช้สอยให้เอื้อสำหรับการทำกิจกรรมในวัดผสมผสาน เรื่องประโยชน์ใช้สอยและความงามเข้าด้วยกัน ภายใต้บริบทของสภาพที่ตั้ง ผู้ใช้และกิจกรรม เพื่อทำให้เกิดสภาวะน่าสบาย น่าอยู่ น่าใช้งาน เป็นการวางแผนการใช้งานพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด ปลอดภัย เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนเพื่อรองรับการใช้งาน มีบรรยากาศที่ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรม
ผังแม่บทจะเป็นเครื่องมือช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการกายภาพของวัดให้สามารถใช้สอยพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบ มีทิศทาง ทั้งการก่อสร้างอาคาร การวางระบบสาธารณูปโภค และการออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ให้อยู่ในตำแหน่งและมีรูปแบบที่เหมาะสม นำไปสู่การจัดทำแผนการพัฒนาตามผังแม่บท โดยแบ่งเป็นช่วงเวลา (phasing) เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ จัดเตรียมพื้นที่ บุคลากร และงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง
การวางผังแม่บทจะประกอบด้วยรายละเอียดการพัฒนาสภาพกายภาพในด้านต่างๆ ได้แก่ การจัดแบ่งเขตการใช้ที่ดิน (zoning) การจัดวางอาคารและสิ่งก่อสร้าง (Building) ระบบการสัญจร (Circulation) พื้นที่เปิดโล่ง (Open Space) พื้นที่สีเขียว (Green Area) ระบบสาธารณูปโภค (Utilities & Infrastructures) และการแบ่งระยะการพัฒนา (phasing)
๒) งานภูมิทัศน์ คือ สภาพทางธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น เฉพาะภายนอกอาคารหรือพื้นที่ใช้สอยภายนอกอาคาร ทั้งสิ่งก่อสร้าง องค์ประกอบภูมิทัศน์ และ บรรยากาศ เช่น สวน บริเวณพื้นที่เว้นว่างระหว่างอาคาร พื้นที่สีเขียว พืชพันธุ์ ก้อนหิน กรวด สระน้ำ น้ำพุ งานศิลปะกลางแจ้ง ศาลา ผนัง ม้านั่ง รั้ว ที่จงกรม ที่นั่งวิปัสสนา ฯลฯ
งานออกแบบภูมิทัศน์ให้ความสำคัญกับการศึกษาทำความเข้าใจเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติเดิม พยายามรบกวนหรือเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด และตอบสนองต่อการเข้าไปใช้สอยพื้นที่ของมนุษย์ เป็นกระบวนการออกแบบ การวางแผน การจัดการ การสร้างสรรค์การปรับใช้หรือพัฒนาพื้นที่ภายนอกอาคาร เพื่อสนองต่อประโยชน์ใช้สอย มีความงาม กลมกลืนกับสภาพธรรมชาติเดิม รักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร
องค์ประกอบสำคัญของงานภูมิทัศน์คือพืชพันธุ์ ทั้งไม้ยืนต้น (Tree )ไม้พุ่ม (Shrub)ไม้คลุมดิน (Groundcover) ไม้น้ำ (Aquatic plants)ไม้เลื้อย (Vines or climbers) ซึ่งมีการเจริญเติบโต ออกดอก ออกผล ผลัดใบ อาจมีความแตกต่างในแต่ละฤดูกาล พืชต้องการการดูแลรักษา จึงทำให้งานภูมิทัศน์เป็นงานที่ไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และยังต้องทำความเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อพืชพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศ สภาพดิน สภาพน้ำ แสงแดด อากาศ ธาตุอาหาร อุณหภูมิ และระบบนิเวศน์ ฯลฯ โดยหลักการออกแบบสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรมและการวางผังให้กับวัดนั้น จะคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้
๑) ส่งเสริมความเป็น “ศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ” ของชุมชนและสังคม
- พัฒนากายภาพวัดให้ส่งเสริมความเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ที่สงบ สัปปายะ เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณของชุมชนและสังคม
- เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาทางจิตวิญญาณ ทั้งบุญกริยา ทาน ศีล ภาวนา และไตรสิกขา ศึล สมาธิ ปัญญา โดยการออกแบบกายภาพ พื้นที่กิจกรรมและการบริหารจัดการที่เหมาะสม
- สร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของวัดร่วมกันกับชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง การเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่วัด และการร่วมดูแลรักษาร่วมพัฒนาวัดต่อไป โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาวัด
๒) การออกแบบด้วยความสมถะ สมประโยชน์ การนำปัจจัยมาใช้ถึงต้องคำนึงและยึดหลักที่ว่า “ประโยชน์สูง ประหยัดสุด”
- ประโยชน์สูงสุด โดยการออกแบบกายภาพวัดให้ตอบสนองการใช้งานและดำเนินกิจกรรมต่างๆได้โดยสะดวก มีประสิทธิภาพ เป็นสัดส่วน
- ประหยัดโดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว หรือหามาได้เพื่อนำมาใช้ร่วมกับการออกแบบให้มีประสิทธิผลสูงสุด
๓) การออกแบบให้กลมกลืนกับประวัติศาสตร์ สุนทรียภาพของวัด วิถีชีวิตชุมชน ทั้งรูปแบบและการใช้งาน
- ให้ผู้ใช้งานจริง เช่น คณะกรรมการวัด ญาติโยม ชุมชน หรือหน่วยงานในพื้นที่ที่ทำงานใกล้ชิดกับวัด มีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบอาคารและการใช้งาน
- การเลือกวัสดุให้เหมาะสมกับพื้นที่
- ความเข้าใจในความงามและคุณค่าของแต่ละพื้นที่มีความต่างกัน
- ความงามเกิดจากการใช้งานนำไปสู่รูปแบบที่เหมาะสม สอดคล้อง
- นำหลักสัปปายะมาใช้ในการออกแบบ เพื่อส่งเสริมบทบาทหลัก คือ การเผยแผ่ธรรมะ
- อาจสอดแทรกภาพปริศนาธรรมในอาคารเพื่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ประชาชนในพื้นที่
การจัดการมรดกวัฒนธรรมและพุทธศิลปกรรมภายในวัด
วัด สถานที่โบราณและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมจัดเป็นส่วนหนึ่งของ “มรดกวัฒนธรรม” ที่มีความหมายครอบคลุมถึงทรัพยากรประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นวัฒนธรรมทางวัตถุและนามธรรม เป็นมรดกของมนุษยชาติ (Heritages) ในที่นี้หมายถึงสถานที่ สิ่งก่อสร้าง และวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาตั้งแต่ในอดีตเป็นสิ่งที่สามารถนำมาจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนสมัยปัจจุบัน “ทรัพยากรวัฒนธรรม”
ในมิติทางพระพุทธศาสนาได้นับรวมสถาปัตยกรรม (อุโบสถ เจดีย์ วิหาร) จิตรกรรม (ภาพวาดฝาผนัง) และประติมากรรม (พระพุทธรูป วัตถุสิ่งของ เช่น คัมภีร์ธรรม) ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาว่าเป็น “พุทธศิลปกรรม” ซึ่งเป็นผลงานด้านศิลปะที่สร้างขึ้นมาเพื่อสนองตอบและรับใช้งานทางด้านพระพุทธศาสนาที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเป็นความงามที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาธรรมโดยผ่านการแสดงทางวัตถุธรรม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เป็นสิ่งที่ช่วยโน้มน้าวจิตใจของพุทธศาสนิกชน ให้เกิดความศรัทธา ประพฤติปฏิบัติตนในแนวทางที่ดีงามตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ศิลปกรรมในพระพุทธศาสนานั้นมักจะสร้างขึ้นในวัด ทั้งนี้เพราะวัดเป็นจุดศูนย์กลางของพุทธศาสนิกชน วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นแหล่งถ่ายทอดศิลปะวิทยาการและธรรมะ ศิลปะกลายเป็นเครื่องมือชี้ชวนให้เข้าวัด เป็นสื่อนำในการรับรู้ความเข้าใจในหลักธรรมให้มีจิตใจเป็นบุญ เป็นกุศล เสียสละ บริจาคทาน งานพุทธศิลปกรรมก่อให้เกิดผลอันเป็นคุณค่าทางจิตใจ ให้เกิดความเกษมเบิกบาน มีความ สุขสงบ โปร่งเบา ร่มเย็นในจิตใจ งานพุทธศิลปะหลายชิ้นล้วนแล้วถ่ายทอดความจริงเรื่องราวต่างๆ เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม หลักศีลธรรมความดีงาม เสริมสร้างเพื่อสื่อให้ผู้ดูสัมผัส ให้เข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิตไม่ว่าจะเป็นกฎของธรรมชาติความไม่เที่ยง การพลัดพราก ที่มนุษย์ ทุกผู้คนต้องประสบ และพุทธศิลป์ยังถ่ายทอดความเมตตากรุณา ปลอบประโลมให้ ผู้ทุกข์คลายเบาบางลง นอกจากนี้พุทธศิลปกรรมนั้น เป็นสื่อน้อมนำศรัทธา เป็นแหล่งความรู้ เป็นศูนย์กลางจุดรวมของจิตใจ ที่มีคุณค่าความสำคัญหลายประการ เช่น เป็นที่พึ่งทางจิตใจโดยเฉพาะพุทธศิลป์ที่เป็นพระพุทธรูปเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ของชาวพุทธ สร้างขวัญกำลังให้แก่ผู้ต้องการกำลังใจ พระสถูปเจดีย์ พระแท่นใต้ต้นศรีมหาโพธิรอยพระพุทธบาท แผ่นจารึกหัวข้อ พุทธธรรม เป็นต้น โบราณวัตถุต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีคุณค่าในฐานะสิ่งอนุสรณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเครื่องหมายของพุทธศาสนา และเป็นสิ่งประกอบในศาสนาพิธี เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม และเป็นทางแห่่งการทำบุญกุศลของชาวพุทธ ชาวพุทธจะอาศัยพุทธศิลป์เป็นการกราบไหว้บูชา เพื่อน้อมนำไปสู่การศึกษาและปฏิบัติธรรม การสร้างพระ การสร้างสถูปเจดีย์การบูรณะซ่อมแซม ซึ่งถือเป็นกุศลหลักทางพระพุทธศาสนา มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณีสถาปัตยกรรม โบราณคดีประวัติศาสตร์ เชื้อชาติศึกษาเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ทัศนคติค่านิยม สังคมวิทยา และศีลธรรมจรรยา ความงดงาม ความสุนทรีย์และทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เป็นต้น
มรดกวัฒนธรรมและพุทธศิลปกรรมนั้น ประกอบด้วยสิ่งที่เป็นถาวรวัตถุ เป็นโบราณสถาน วัตถุโบราณ และสิ่งของอื่นๆ โดยมีลักษณะสำคัญ ดังต่อไปนี้
๑) ทรัพย์สินทางประวัติศาสตร์ (Historic Properties)
๒) โบราณวัตถุ สิ่งประดิษฐ์ (Artifacts)
๓) เอกสารโบราณ (Documents / Archives)
๔) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม (Physical Environment) ได้แก่ สถานที่มีภูมิทัศน์สวยงาม รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Built Environment)
๕) ทรัพยากรที่เป็นนามธรรม (Non- Physical Resources) ได้แก่ แบบแผนวิถีชีวิต (Way of life) แบบแผนพฤติกรรม (Standard of Practice) ขนมธรรมเนียม/วิถีประชา (Norm) ค่านิยม (Values) ความเชื่อ (Beliefs) ศาสนา (Religion) แบบแผนของปฏิสัมพันธ์ในสังคม (Pattern of Interaction) รูปแบบสถาบัน/องค์กร (Organizations)
โดยศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ ได้ระบุทรัพยากรวัฒนธรรมว่า หมายถึง ส่วนประกอบของระบบวัฒนธรรมทั้งหมดในสังคมมนุษย์ทั้งที่เป็นวัฒนธรรมทางวัตถุที่จับต้องมองเห็นได้ และที่เป็นความหมาย ความรู้ ภูมิปัญญา ความเชื่อ กฎระเบียบแบบแผนการปฏิบัติ จินตนาภาพ และความรู้สึกนึกคิดที่ไม่สามารถจับต้องมองเห็นหรือสัมผัสได้ เป็นสิ่งที่สามารถจัดการให้เกิดประโยชน์แก่การดำรงชีวิตของมนุษย์ในแต่ชุมชน แต่ละสังคม แต่ละยุคสมัยได้ และทรัพยากรวัฒนธรรมในสังคมปัจจุบันประกอบด้วยสิ่งที่เป็นมรดกสืบทอดมาจากอดีตและสิ่งที่ยังมีการสร้างสรรค์ดัดแปลงขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้สอยให้สมประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคมและชุมชน ในปัจจุบันสามารถจัดแบ่งทรัพยากรวัฒนธรรมออกเป็นประเภทต่างๆ ตามแนวทางการศึกษาด้านโบราณคดีชุมชน ได้แก่
๑. แหล่งโบราณคดี (Archaeological Site) หมายถึง สถานที่ที่เคยมีมนุษย์ในอดีตเข้าไปใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมต่างๆในการดำรงชีวิตหรือกิจกรรมทางวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นการถาวร หรือเป็นครั้งเป็นคราว อาจจะมีสิ่งก่อสร้างหรือไม่มีสิ่งก่อสร้างก็ได้ เช่น บริเวณวัดเก่า เมืองเก่า สุสานฝังศพ กำแพงเมือง คูเมือง สถานที่ผลิตเครื่องถ้วยชามหม้อไห (แหล่งเตาโบราณ) ซึ่งอยู่ภายในบริเวณวัดและชุมชน เช่น แหล่งโบราณคดีพระนครศรีอยุธยา สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ย่านเมืองเก่านครศรีธรรมราช แหล่งลูกปัด บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น
๒. โบราณสถาน (Ancient Structures) หมายถึง สิ่งก่อสร้างที่มีสภาพและใช้วัสดุคงทนที่เกิดจากมนุษย์สร้าง เป็นศาสนสถาน สถานที่ประกอบพิธีกรรม สถานที่ธรรมชาติประเภทถ้ำและเพิงผาที่คนสมัยโบราณได้ดัดแปลงก่อสร้างต่อเติมเป็นอาคาร โรงเรือนหรืออาคารที่ประกอบกิจการงานอาชีพ (ปั้นหม้อ ทอผ้า จักสาน หล่อโลหะ ทำลูกปัด ตีเหล็ก ฯลฯ) เช่น อนุสาวรีย์ โบสถ์ วิหาร หอไตร กุฏิ เจดีย์ พระปรางค์ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ศาลเจ้า เสาอินทขีล ปราสาทขอม เสาชิงช้าพราหมณ์ ฯลฯ ที่มีสภาพติดที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ โดยในพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ( แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ ) มาตรา ๔ ระบุว่า โบราณสถาน หมายถึง อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลป์ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย
- วัตถุโบราณ (Ancient Objects) หมายถึง วัตถุสิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้ ที่เกิดจากการประดิษฐ์ด้วยฝีมือคนหรือเกิดจากการดัดแปลงจากวัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติตามภูมิปัญญาความรู้ของคนในยุคสมัยต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม ทั้งด้านเศรษฐกิจ (การทำมาหากิน) การศึกษา (การอบรมสั่งสอน) การรักษาพยาบาลและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ การประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อในวาระต่างๆ ของชีวิต เช่น การสร้างงานศิลปะและชิ้นงานศิลปะประเภทแกะสลักไม้ แกะสลักหิน ภาพวาด พระพุทธรูป ปูนปั้น หล่อโลหะ หนังสือ ศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน สมุดข่อย ปั๊บสา ปั๊บหลั่น เงินเหรียญ วัตถุสมมติแทนเงินตรา ธนบัตร รูปเคารพในศาสนาและระบบความเชื่อต่างๆ ธรรมาสน์ อาสนะ เฟอร์นิเจอร์ ตู้ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ฯลฯ ซึ่งวัตถุโบราณในที่นี้หมายรวมถึงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ พ.ศ. ๒๕๐๔ ระบุว่า โบราณวัตถุ หมายถึง สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลป์ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี และศิลปวัตถุ หมายถึง สิ่งที่ทำขึ้นด้วยมืออย่างประณีตและมีคุณค่าสูงในทางศิลป์ด้วย
ทรัพยากรวัฒนธรรมและพุทธศิลปกรรมดังกล่าว ส่วนใหญ่มีอยู่ภายในวัดและสังคม ล้วนมีความสำคัญเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและจัดเป็นทุนทางสังคมเชิงวัฒนธรรมที่ให้ทั้งคุณค่าและมูลค่าทางด้านต่างๆ เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าอดีตที่สะท้อนมาถึงภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสิ่งที่สามารถนำมาจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนสมัยปัจจุบันได้
ตู้ใส่คัมภีร์ใบลานจัดเป็นโบราณวัตถุควรค่าแก่การอนุรักษ์
ความสำคัญและประโยชน์ของทรัพยากรทางวัฒนธรรม
๑. เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แสดงถึงความเป็นมาของชุมชนและสังคมระดับต่างๆ
๒. เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ (Identity) และเอกลักษณ์ของชุมชน ชาติพันธุ์ และสังคมในระดับชาติ
๓. เป็นวัตถุพยานแสดงศักยภาพของชุมชนในการดำรงวิถีชีวิตและการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมอื่นๆตามสถานการณ์และลำดับเวลาที่ผ่านมา
๔. เป็นทุนของชุมชน ที่สามารถนำไปจัดการให้เกิดประโยชน์ในกระบวนการพัฒนาชุมชนทั้งทางด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรม เศรษฐกิจ การสาธารณสุข และกิจกรรมการท่องเที่ยว
๕. เป็นปัจจัยพื้นฐานของการศึกษาเรียนรู้และการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม ที่สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์และการจัดประโยชน์ในสังคมรุ่นหลังได้
แนวทางการดูแลรักษาโบราณสถานและทรัพยากรวัฒนธรรมภายในวัด
กรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดระเบียบว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยเสนอวิธีการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม อันเป็นมรดกวัฒนธรรม ซึ่งตั้งอยู่สถานที่ต่างๆ และภายในวัด ดังนี้
๑. หลักการอนุรักษ์ การดูแลรักษาโบราณสถานเพื่อให้คงคุณค่าไว้ รวมถึงการป้องกัน การรักษา การสงวน การปฏิสังขรณ์ และการบูรณะที่รวมเรียกว่า “การอนุรักษ์“ การอนุรักษ์ คือ การดูแลรักษาตัวโบราณสถานมิให้ชำรุดหรือถูกทำลายลงไปกว่าที่เป็นอยู่ การอนุรักษ์มีการปฏิบัติงานหลายระดับซึ่งแต่ละระดับเป็นไปตามค่านิยมของแต่ละท้องถิ่นและมีวิธีการที่แตกต่างไปตามวัสดุที่ใช้ก่อสร้างเป็นโบราณสถาน โดยการอนุรักษ์จำแนกออกได้ ๓ ระดับได้แก่
๑) การสงวนรักษา หมายถึง การดูแลรักษาไว้ตามสภาพเดิมเท่าที่เป็นอยู่และป้องกันมิให้เสียหาย
๒) การปฏิสังขรณ์ หมายถึง การทำให้กลับคืนสู่สภาพที่เคยเป็นมา
๓) การบูรณะ หมายถึง การซ่อมแซมและการปรับปรุงให้มีรูปทรงเดิมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ต้องแสดงความแตกต่างของสิ่งที่มีอยู่เดิมและสิ่งนี้ทำขึ้นใหม่
การอนุรักษ์โบราณสถานโดยหลักการที่ถูกต้อง ต้องกำหนดกรอบการอนุรักษ์ไว้ให้ชัดเจนว่า จะทำการอนุรักษ์ในระดับใดเป็นหลัก หากเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่มีหลายส่วนต้องกำหนดกรอบลงไปให้ชัดเจนว่าจะทำการอนุรักษ์ส่วนไหนระดับใด เป็นต้น การกำหนดกรอบดังกล่าวเรียกว่า การกำหนดวัตถุประสงค์เป้าหมายและมาตรการการอนุรักษ์โบราณสถาน
๒.วิธีการอนุรักษ์โบราณสถาน มีวิธีการอนุรักษ์ ดังนี้
๑) ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล หลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมเพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในการกำหนดแนวทางการอนุรักษ์โบราณสถานแต่ละแห่ง
๒) กำหนดกรอบการอนุรักษ์โบราณสถานแต่ละแห่งให้ชัดเจน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์ พร้อมทั้งกำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และการเลือกใช้วิธีการอนุรักษ์
๓) การสร้างรูปแบบ กำหนดวิธีการและรายละเอียดในการอนุรักษ์ ตลอดจนการกำหนดวัสดุที่นำมาใช้ โดยใช้แนวคิด (3 E-Model) ได้แก่
- E1-Education ให้การศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรวัฒนธรรมภายในวัด
- E2-Engineering การสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และประดิษฐ์นวัตกรรมในการจัดการ โดยใช้ประเพณีในการส่งเสริมการอนุรักษ์ เช่น การสรงน้ำพระธาตุ ประเพณีของแต่ละวัด เป็นต้น เพื่อให้คนระลึกถึงสิ่งที่มีคุณค่าในโบราณสถานนั้นๆ
- E3-Enforcement การบังคับใช้กฎระเบียบ เช่น การขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ และโบราณสถานที่ถูกต้องตามกฎหมาย
๔) การดำเนินงานในการอนุรักษ์ โดยทั่วไปงานอนุรักษ์โบราณสถานเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร โดยการมีส่วนร่วมของวัด ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
๕) การปรับปรุงภูมิทัศน์ ได้แก่ การทำผังบริเวณพื้นที่โบราณสถานให้สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยปัจจุบันและส่งเสริมให้โบรา